วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551

ไม่ได้ "สาบาน" ก็เสี่ยง "ฟ้าผ่าตาย" เกิดง่ายขึ้น ! บ่อยขึ้น !


"ไม่ควรอยู่ในที่โล่งแจ้ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสวมใส่เครื่องประดับและใช้สื่อไฟฟ้าที่จะเป็นสาเหตุของการเกิดฟ้าผ่าได้”...เป็นคำเตือนของทางกรมอุตุนิยมวิทยา กับสภาวะอากาศระยะนี้ที่แปรปรวน พายุฤดูร้อน-พายุฝนฟ้าคะนอง...ใช่จะมีภัยแค่ลมพายุ “ภัยฟ้าผ่า” ก็มองข้ามมิได้...และนับวันจะเกิดบ่อย !! ปัจจุบันภัยฟ้าผ่าเป็นอีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยมาก จากเดิมในปี 2548 มีรายงานว่าในแต่ละปีมีเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก “เสียชีวิตเพราะถูกฟ้า ผ่า” มากกว่า 1,000 ราย เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข้อมูลออกมาว่าฟ้าผ่าเกิดขึ้นทุกวัน ๆ ละกว่า 8 ล้านครั้งทั่วโลก มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมแล้วกว่า 1,500-5,000 คนต่อปี ขณะที่ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บ ในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่ายุคนี้ เด็กไทยอายุน้อยกว่า 17 ปี เสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่าเฉลี่ยประมาณ 20 คนต่อปี ยังไม่รวมส่วนที่เป็นผู้ใหญ่ที่อยู่นอกการสำรวจ “ฟ้าผ่า” เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ “เกิดจากความไม่สมดุลของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศโลก” ซึ่งมีทั้งฟ้าผ่าขึ้น และฟ้าผ่าลง โดยฟ้าผ่าลงที่มนุษย์คุ้นเคยมากกว่าและทำให้เกิดการบาดเจ็บ - เสียชีวิตอยู่เป็นประจำนั้น กระบวนการเริ่มจากก้อนเมฆมีความเข้มของสนามไฟฟ้าสูงถึงค่าวิกฤติ เกิดการแตกตัวของอนุภาคโมเลกุลในอากาศ ขยายตัวออกเป็นตัวนำวิ่งลงสู่พื้นโลก เกิด การถ่ายเทประจุลงสู่พื้นโลกเป็นลำฟ้าผ่า วิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า เวลาที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ที่มีการแนะนำกันไว้ก็มีอาทิ... หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง เช่น กลางสนามหญ้า สนามกีฬา ชายหาด ลานกว้าง ทุ่งนา ฯลฯ, หลีกเลี่ยงการอยู่ใต้-อยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า เสาสูง รั้ว กำแพง โดยเฉพาะที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ, หลีกเลี่ยงการมีสื่อไฟฟ้าติดตัว เช่น สร้อย แหวน กำไล นาฬิกา ฯลฯ ที่มีโลหะนำไฟฟ้า ควรถอดเก็บไว้ไกลตัวชั่วคราว, หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือ-การใช้โทรศัพท์สาธารณะที่อยู่กลางแจ้ง เพราะดึงดูดสายฟ้าได้ ผู้ที่ถูกฟ้าผ่าส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที หรือถ้าดวงแข็งแบบสุด ๆ แล้วยังไงก็จะได้รับบาดเจ็บรุนแรง เพราะร่างกายจะถูกกระแสไฟฟ้ามากกว่า 200,000 แอมแปร์ช็อต จึงไม่ควรมองข้ามคำแนะนำ เมื่อเกิดฝนกระหน่ำฟ้าคะนอง หากเป็นไปได้ควรหลบเข้าบ้าน อาคารต่าง ๆ ที่มีการติดสายล่อฟ้า ส่วนสิ่งปลูกสร้างเล็ก ๆ กลางไร่นาที่โล่งแจ้งนั้น ที่ผ่านมามีข่าวฟ้าผ่าจนคนตายเป็นประจำ...โปรดระวัง !! อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในบ้านก็ยังมีข้อควรระวัง เช่น ไม่ควรไปเกาะหรืออยู่ใกล้หน้าต่าง โดยเฉพาะถ้ามีส่วนประกอบเป็นโลหะ, ไม่ควรเปิดหรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น !! เพราะหากฟ้าผ่าใส่บ้านกระแสไฟฟ้าอาจไหลผ่านเครื่องไฟฟ้ามาทำอันตรายได้ ซึ่งกรณีนี้ก็รวมถึงเครื่องทำน้ำอุ่น หรือมือถือที่เสียบชาร์จแบตเตอรี่อยู่ กรณีอยู่ในรถที่กำลังวิ่งหรือจอดขณะฝนฟ้าคะนอง ควรปิดกระจกรถทุกบาน และหากเกิดแจ๊กพอตฟ้าผ่าใส่รถขึ้นมา คำแนะนำคืออย่าตกใจ ตั้งสติให้มั่น ซึ่งโดยทั่วไปกระแสไฟฟ้าจากฟ้าที่ผ่าใส่รถจะวิ่งไปตามโลหะตัวถังรอบ นอกรถแล้วลงสู่พื้นดินไป อย่าลงจากรถวิ่งหนีเมื่อฟ้าผ่ารถ อย่ารีบซิ่ง จะยิ่งเสี่ยงตาย !! ทั้งนี้ “ภัยฟ้าผ่า” คุกคามคนไทยรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างในปี 2551 นี้ยังไม่ทันเข้าสู่ฤดูฝนปกติ ก็มีข่าวคนถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตไปหลายศพแล้ว เช่น 3 ศพที่เป็นหญิง ที่ถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตพร้อมกัน-ที่เดียวกัน เมื่อ 15 เม.ย. ที่ ต.บ้านเม็ง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น, วันที่ 27 เม.ย. เด็กชายวัย 12 ขวบรายหนึ่งถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตใกล้รถมอเตอร์ไซค์ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี นี่ยังไม่รวมสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ที่ปีนี้ก็ถูกฟ้าผ่าตายไปแล้วหลายสิบตัว รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ...ข้อสังเกตที่กำลังเป็นที่สนใจ ที่ว่าทำไม “ฟ้าผ่าคนตาย” ถึงเกิดขึ้นบ่อยในปัจจุบันนั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยกระตุ้นหลาย ๆ สิ่ง อาทิ ภาวะโลกร้อน, การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินมากขึ้น รวมถึง พฤติกรรมมนุษย์ที่เสี่ยง ต่อการถูกฟ้าผ่ามากขึ้น เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือขณะฝนฟ้าคะนอง ใส่เครื่องประดับที่มีโลหะนำกระแสไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับกรณีเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ที่ก็เกิดฟ้าผ่าบ่อยขึ้น อาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้ที่ดินในปัจจุบันเป็นหลัก พื้นที่ที่เป็นต้นไม้น้อยลง ทำให้ขาดตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจากปริมาณรถยนต์บนท้องถนน จนมีผลทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้น จนทำให้เกิดการจับกลุ่มรวมตัวของเมฆฝนมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีฝนฟ้าคะนองโดยอุณหภูมิไม่สมดุลเพิ่มขึ้น โอกาสเกิดฟ้าผ่าก็มีบ่อยขึ้น “วัสดุคอนกรีตที่ใช้ในการก่อสร้าง และป้ายโฆษณาที่มีอยู่มากมาย ซึ่งมีส่วนประกอบหลักจากโลหะและคอนกรีต ก็เป็นวัสดุที่เป็นตัวนำประจุไฟฟ้าหรือล่อฟ้าผ่าได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดฟ้าผ่า ใครไปยืนอยู่ใกล้ ๆ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตราย” ...รศ.ดร. เสรี ระบุ พร้อมทั้งเตือนด้วยว่า... “ฟ้าผ่า” นั้นไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน ตรงจุดใด ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สิ่งที่มีความเสี่ยงและการมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเกิด-จะถูกฟ้าผ่า “สาบานให้ฟ้าผ่าตาย” คนชอบสาบานติดปากกันมานาน ยุคปัจจุบัน...ถึงไม่สาบาน-ไม่โกหก...ก็เสี่ยงไหม้เกรียม... เพราะ “ฟ้าผ่า” เปรี้ยงปร้างบ่อยขึ้น-ง่ายขึ้น !?!?!.

ไม่มีความคิดเห็น: